(เผยแพร่ผลงาน) การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ – ครูวรินทร จรูญกิจธรรม
วันนี้ขอนำเสนอผลงานทางวิชาการ ซึ่งคุณครูวรินทร จรูญกิจธรรม ครูโรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ได้ขอเผยแพร่ผลงานทางวิชาการจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย เรื่อง “การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร แก่ผู้สนใจทั่วไปในสื่อออนไลน์แห่งนี้ ดังนี้ครับ
บทคัดย่อ
แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ชุดที่ 1)
แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ชุดที่ 3)
เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
บทคัดย่อ
หัวข้อวิจัย การพัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นายธนันดร ใกล้ฝน
ปี พ.ศ. 2556
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบความสามารถทางการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวาของนักเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกทักษะการร้อยกรอง กลอนสักวา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 45 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง รวม 12 วัน วันละ 50 นาที รวม 12ชั่วโมง การทดลองครั้งนี้ใช้รูปแบบ One – Group Pretest – Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แบบทดสอบวัดความสามารถทางการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีค่าความยากง่ายตั้งแต่ .67 ถึง . 80 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .22 ถึง . 57 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .92 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบค่า t
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.95/83.22 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ 80/80
2. นักเรียนที่เรียนด้วยชุดฝึกทักษะการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความสามารถทางการเขียนร้อยกรอง กลอนสักวา หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา ตอนนี้ไม่ปรากฏผู้แต่งแน่ชัด แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพ ใช้ในการเล่าเรื่องราวเพื่อขับเสภา เรื่องนี้สะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังให้ข้อคิดที่มีคุณค่า เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ในการศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมในวรรณคดีเรื่องนี้มีความสำคัญตรงที่จะช่วยให้นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าของวรรณคดีมากยิ่งขึ้น วรรณคดีไม่เพียงแต่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ แต่ยังมีคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้นักเรียนยังได้รับความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมวัฒนธรรมในสมัยอดีตอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดบางอย่างอาจไม่มีบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน แต่ผู้ประพันธ์ก็ได้สะท้อนและบันทึกไว้ในวรรณคดีอีกทางหนึ่ง
ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อคิดจากวรรณคดีเรื่องนี้นักเรียนสามารถศึกษาได้จากการพิจารณาพฤติกรรมและบทบาทของตัวละครว่าให้ข้อคิดหรือให้คติสอนใจในด้านใดหรือเรื่องไหนแก่นักเรียน (ซึ่งเป็นผู้อ่าน) ตัวละครนั้นเป็นแบบอย่างหรือให้อุทาหรณ์เรื่องใดแก่นักเรียน ซึ่งนักเรียนสามารถศึกษาได้จากการวิเคราะห์สาระสำคัญของเรื่องว่า กวีต้องการสื่อความคิดหรือคติสำคัญข้อใดแก่ผู้อ่านไปด้วย
ภาระงานนักเรียนระดับชั้น ม.๖ ที่เรียนภาษาไทยกับครูปิยะฤกษ์ : ให้นักเรียนสรุปคุณค่าและข้อคิดจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา โดยอภิปรายผลที่ตนเองได้รับจากการศึกษาเรียนรู้มาพอสังเขป (แสดงความคิดเห็นที่เรื่องนี้ได้เลยครับ)
ร่วมการแข่งขันทักษะด้านวิชาการและนันทนาการ ในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ ๖
ร่วมการแข่งขันทักษะด้านวิชาการและนันทนาการ ในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ ๖
วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ครูภาษาไทย โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ฝึกซ้อมนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทักษะด้านวิชาการและนันทนาการ ในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ ๖ “อ่านเพื่อจินตนาการ ระหว่างวันที่ ๙-๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การเรียนรู้ ชั้น ๔ สุนีย์ทาวเวอร์ รวม ๑๓ รายการ โดยมีครูผู้ดูแล ๑๑ คน นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้รวม ๑๗ คน
รางวัลที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันทักษะทางวิชาการในครั้งนี้
การวิเคราะห์คุณค่าบทอาขยาน : คำนมัสการมาตาปิตุคุณ และคำนมัสการอาจริยคุณ
การวิเคราะห์คุณค่าบทอาขยาน : คำนมัสการมาตาปิตุคุณ และคำนมัสการอาจริยคุณ
ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่เรียนวิชาภาษาไทยกับครูปิยะฤกษ์ ทำการวิเคราะห์คุณค่าบทอาขยาน คำนมัสการมาตาปิตุคุณ และคำนมัสการอาจริยคุณ และเขียนวิเคราะห์คุณค่าลงในกระดาษรายงานส่งคุณครู ภายในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ครับ
บทอาขยาน คำนมัสการมาตาปิตุคุณ
ข้าขอนบชนกคุณ ชนนีเป็นเค้ามูล
ผู้กอบนุกูลพูน ผดุงจวบเจริญวัย
ฟูมฟักทะนุถนอม บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไรไร บ คิดยากลำบากกาย
ตรากทนระคนทุกข์ ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
ปกป้องซึ่งอันตราย จนได้รอดเป็นกายา
เปรียบหนักชนกคุณ ชนนีคือภูผา
ใหญ่พื้นพสุนธรา ก็ เทียบ บ เทียมทัน
เหลือที่จะแทนทด จะสนองคุณานันต์
แท้บูชไนยอัน อุดมเลิศประเสริฐคุณ
บทอาขยาน คำนมัสการอาจริยคุณ
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุณ
โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย
การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย
วันนี้ขอเสนอเกร็ดความรู้ภาษาไทยที่หลายคนมองข้าม การใช้ พลาง หรือพราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย การที่ออกเสียงคำว่า พลาง หรือ พราง ก็ดี หากออกเสียงคำใดคำหนึ่งผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนทันที ดังนั้น มาเริ่มทำความรู้จักความหมายของคำสองคำนี้กัน ครับ
พลาง เป็นคำวิเศษณ์ พลาง หมายถึง ในระยะเวลาเดียวกัน (มักใช้กับกริยาที่ควบคู่กัน) เช่น น้องต่างพลางกินพลางเล่น หรือหมายถึง ชั่วระหว่างเวลา (ที่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่ถึงกำหนดเป็นต้น) เช่น ให้ใช้ข้อบังคับตามกำหนดนี้ไปพลางก่อน, อบอุ่นร่างกายรอไปพลางก่อนกรรมการเรียกลงสนามแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ส่วน
พราง เป็นคำกริยา พราง หมายถึง ทำให้เข้าใจเป็นอื่น, ทำให้เลือน เช่น ทหารพรางตัวด้วยการใช้ชุดลายพราง เป็นต้นครับ
ดังนั้น ควรใช้คำสองคำนี้ให้ถูกต้องด้วยการออกเสียงและเขียนสะกดคำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการสื่อสาร ปัญหาจากการสื่อสารก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนครับ
โดย
ครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล